บริการประชาชน

เมนู

อำนาจหน้าที่ | ขอบเขตการปฏิบัติงาน

สืบเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเขตทางทะเลอันมีลักษณะที่หลากหลาย โดยแต่ละประเทศมีอำนาจอธิปไตย หรือสิทธิอธิปไตยที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลไว้

รวมทั้ง มีสิทธิหน้าที่อื่นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งต้องปฏิบัติระหว่างกัน ประเทศไทยมีพันธกรณีจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และการป้องกันสิทธิอธิปไตยที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลไว้อีกด้วย กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับสถาณการณ์ การใช้บังคับในเขตทางทะเลที่มีอยู่ภายในราชอาณาจักร หรืออาจไม่ครอบคลุมถึงการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีอยู่อย่างมากมายในทุกๆ ด้าน เช่น ด้านควาสมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากร หรือด้านสิ่งแวดล้อม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยปฏิบัติงานหลักเพื่อรับผิดชอบดำเนินการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างมีเอกภาพ บูรณาการ และประสานการปฏิบัติงานในเขตทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศรชล. เป็นส่วนราชการที่มีรูปแบบเฉพาะ มีหน้าที่และอำนาจและรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

  • ผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หมายความว่า ผลประโยชน์ของประเทศไทยอันพึงได้รับจากกิจกรรมทางทะเล
  • กิจกรรมทางทะเล  หมายความว่าการดำเนินการเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตทางทะเลใน รูปแบบต่าง ๆ เช่นการพาณิชยนาวี การประมง การท่องเที่ยว การแสวงประโยชน์จากทรัพยากรที่ไม่มีชีวิต การวางสายเคเบิลหรือท่อใต้ทะเลการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือการสำรวจและวิจัย วิทยาศาสตร์ทางทะเล หรือประโยชน์อื่นใดในเขตทางทะเล
  • เขตทางทะเล หมายความว่าชายฝั่งทะเลและพื้นที่ทางทะเลที่ประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตย หรือสิทธิอธิปไตยหรือมีสิทธิหรือเสรีภาพในการใช้หรือจะใช้ หรือมีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือตามสนธิสัญญาหรือด้วยประการใด ๆ ได้แก่ น่านน้ำภายในทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ไหล่ทวีป และทะเลหลวงและให้หมายความรวมถึงเกาะเทียม สิ่งติดตั้ง และสิ่งปลูกสร้างในทะเลรวมทั้งห้วงอากาศเหนือทะเล พื้นดินท้องทะเล ใต้พื้นดินท้องทะเลและพื้นที่ทางทะเลอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทุก ๆ ด้าน เช่นด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านทรัพยากร หรือด้านสิ่งแวดล้อม

ศรชล. อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดย “นายกรัฐมนตรี”เป็น “ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล”เรียกโดยย่อว่า “ผอ.ศรชล.” มี “ผู้บัญชาการทหารเรือ” เป็น “รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล” เรียกโดยย่อว่า “รอง ผอ.ศรชล.” มีรองผู้บัญชาการทหารเรือ อธิบบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้บังคับการตำรวจน้ำ ปฏิบัติหน้าที่เป็น “ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล” เรียกโดยย่อว่า “ผช.ผอ.ศรชล.”และ “เสนาธิการทหารเรือ” เป็น “เลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล”มีหน้าที่รับผิดชอบงานอำนวยการ
และธุรการของ ศรชล.

อำนาจหน้าที่ของ ศรชล.

เป็นไปตามมาตรา ๑๙ แห่ง พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.๒๕๖๒ ประกอบด้วย

  • (๑) วางแผน อำนวยการ ประสานงาน สั่งการ และสนับสนุนการปฏิบัติงาน ของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
  • (๒) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคาม ต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และรายงานคณะกรรมการ และคณะรัฐมนตรี ตามลำดับเพื่อพิจารณาต่อไป 
  • (๓) เสนอแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานและดำเนินการตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ หรือแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานและโครงการเพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับแผนและแนวทางดังกล่าวต่อไป
  • (๔) วางแผน พัฒนา และดำเนินการเกี่ยวกับระบบควบคุมบังคับบัญชาและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการปฏิบัติงานของ ศรชล. ให้สามารถติดต่อ เชื่อมโยง หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ 
  • (๕) เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนตระหนักรู้ในความสำคัญของผลประโยชน์ของชาติทางทะเล สิทธิอธิปไตย เขตอำนาจ และสิทธิในการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในเขตทางทะเล พื้นที่ต่าง ๆ และหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติทางทะเล รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล 
  • (๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของ ศรชล. หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

คณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (นปท.) ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งจำนวน ๒๗ คน มีอำนาจหน้าที่ ในการ กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล และมาตรการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทะเลให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และแผนระดับประเทศที่เกี่ยวข้อง ให้คำแนะนำ ปรึกษา สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติในด้านต่าง ๆ และเสนอให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีทราบ

คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (อจชล.) แต่งตั้งขึ้นตามอำนาจของคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลปฏิบัติหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและจัดการความรู้เกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้กับคณะกรรมการนโยบายฯ และ ศรชล. รวมทั้งปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ มอบหมาย

คณะกรรมการบริหาร ศรชล. ประกอบด้วย ผบ.ทร. เป็นประธานกรรมการ รอง ผบ.ทร. เป็นรองประธานกรรมการ เสนาธิการทหารเรือเป็นเลขานุการ มีหน้าที่ ประกอบด้วย 

  • (๑) พิจารณาให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณ เพื่อเสนอต่อผู้อำนวยการพิจารณาให้ความเห็นชอบ
  • (๒) เสนอแนะหรือให้คำปรึกษาในการปฏิบัติงานในหน้าที่และอำนาจของ ศรชล. 
  • (๓) วางระเบียบเกี่ยวกับการอำนวยการและประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
  • (๔) วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อให้มีการบูรณาการในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวัง ตรวจสอบ หรือเตรียมการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ใด ๆ ที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือกิจกรรมทางทะเลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจตามมาตรา ๒๗ ได้ทันต่อสถานการณ์และมีประสิทธิภาพ
  • (๕) วางระเบียบเกี่ยวกับการรวบรวมและบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานของรัฐให้สามารถติดต่อ เชื่อมโยง หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือกิจกรรมทางทะเล
  • (๖) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ ศรชล. ศรชล.ภาค และ ศรชล.จังหวัด
  • (๗) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ การสืบสวน และการสอบสวนตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติหน้าที่หรือการสอบสวน ของพนักงานเจ้าหน้าที่ร่วมกับพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา และการเก็บรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางทั้งนี้ ต้องสอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  • (๘) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงิน การคลัง การจัดการทรัพย์สินของ ศรชล. ศรชล.ภาค และ ศรชล.จังหวัด และการอื่นใดที่จำเป็น
  • (๙) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
  • (๑๐) แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา ศรชล. เพื่อให้การเสนอแนะการแก้ไขปัญหาหรือป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นและให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการบริหาร ศรชล. และ ศรชล. 
  • (๑๑) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหาร ศรชล. หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

 

Our Mission

ศรชล.ภาค 3

ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3

Scan Line ID

qr code thaimecc3

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้งาน ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้งานการตั้งค่าคุกกี้ได้ที่ นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล