ศรชล.ภาค 3
ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3
- เลขที่ : 83 หมู่ 8 ถ.ศักดิเดช ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000
- โทร. : 076-353-745 , 076-353-746
- Email : rmecc3@thai-mecc.go.th
- Line ID : sornchon03
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566 พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (รอง ผอ.ศรชล.) พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมและรับชมสาธิตการฝึกการส่งกลับสายแพทย์ (Medivac Exercise) บนเรือสำราญ Spectrum of the Seas
โดย พลเรือโท อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 และ ผอ.ศรชล.ภาค 3 นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ณ จุดทิ้งสมอ อ่าวป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นการฝึกการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงาน และการปฏิบัติการร่วมระหว่างเฮลิคอปเตอร์ – เรือสำราญ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพด้านการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล
พลเรือเอก เชิงชาย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ ศรชล. เป็นหน่วยบูรณาการในการปฏิบัติของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางเรือสำราญของประเทศไทย ที่กลับมาให้บริการอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น จนถึงปัจจุบันพบว่า มีเรือสำราญเข้ามาในประเทศ ทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย จำนวน 83 เที่ยว นำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศกว่า 310,000 คน ซึ่งสามารถสร้างรายได้มากกว่า 1,800 ล้านบาท โดย ศรชล. ได้บันทึกข้อมูลนักท่องเที่ยวลงในระบบ Big Data เพื่อประโยชน์ในการดูแล ความปลอดภัย และการช่วยเหลือด้านการแพทย์ให้กับนักท่องเที่ยวหากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยในห้วงที่ผ่านมาได้รับรายงานว่า ศรชล.ได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลหลายครั้ง และถือได้ว่าเป็นผลงานเชิงประจักษ์ต่อพี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในทะเลได้อย่างทันท่วงที ในทุกสถานการณ์
พลเรือเอก เชิงชาย กล่าวด้วยว่า เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะผู้ตรวจประเมิน ประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme, IMSAS) ได้เดินทางมาตรวจและรายงานผลการตรวจประเมินฯ โดยชื่นชมประเทศไทยที่มีระบบการปฏิบัติงานด้านการขนส่งทางน้ำที่โดดเด่น มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัย สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับมาตรฐานการขนส่งทางน้ำ สร้างมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ มีสิ่งที่ต้องดำเนินการแก้ไข (Findings) คือ ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยที่ทำการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล สำหรับเหตุการณ์บนเรือโดยสารขนาดใหญ่ รวมทั้งยังไม่มีการจัดทำแผนความร่วมมือ (SAR Cooperation Plan) และการฝึกซ้อมกับเรือโดยสาร เพื่อทดสอบประสิทธิภาพด้านการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล ซึ่งคณะอนุกรรมการการจัดทำและขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศของ IMO ได้กำหนดให้ ศรชล. และ สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการด้านการค้นหาและช่วยเหลือเรือโดยสาร โดยปัจจุบัน ศรชล. ได้จัดทำแผนฯดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
ผบ.ทร./รอง ผอ.ศรชล. กล่าวย้ำว่า การฝึก Medivac ในวันนี้ ถือว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อให้แผนฯ ดังกล่าว มีความครบถ้วนสมบรูณ์ ซึ่งผม และ ศรชล.ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้ง บริษัท รอยัล คาริเบียน อินเทอร์เนชันแนล (Royal Caribbean International) และเรือ Spectrum of the Seas ที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้การฝึกครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
“ผลการฝึกฯ ในวันนี้ นอกจากจะได้รวมรวมและเสนอไปยังคณะผู้ตรวจประเมินฯ เพื่อให้ทราบถึงการปรับปรุงแล้ว ยังเป็นเครื่องยืนยันและแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลได้อย่างรวดเร็ว เป็นการสร้างความมั่นใจต่อการท่องเที่ยวทางทะเลของประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย” พลเรือเอก เชิงชาย กล่าว
“ศรชล. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน”
ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้งาน ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้งานการตั้งค่าคุกกี้ได้ที่ นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล